หน้าเว็บ

ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การใช้ ICT ในการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ


ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำว่า ICT กันเสมอ ในเชิงการแข่งขันคนที่มีความรู้ความสามารถเท่านั้น จึงจะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักยภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่เราเรียกว่า ยุคสมัยของการดำรงชีวิตภายใต้การแข่งขันด้านความรู้ความสามารถ (Knowledge-based economy/society) การนำ ICT ไปใช้ในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในวงการศึกษา ทั้งนี้เนื่องจาก ICT เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพสูง กว่าเครื่องมือการสอนอื่น ๆ เราสามารถใช้ ICT เพื่อปรับปรุงคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ คำว่า “ ICT” ย่อมาจาก Information and Communication Technologies หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หมายถึง การรวมตัวกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และเทคโนโลยีการสื่อสาร (CT) เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลข่าวสารมาจัดเก็บอย่างเป็นระบบ หรือหมวดหมู่ เพื่อให้ทุกคนที่สนใจเข้าถึงข้อมูล และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามกรอบแนวความคิดทั้ง 6 ประการ ดังกล่าว จัดเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นที่สำคัญในสาระขอบข่ายเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกัน และมีรายละเอียดดังนี้
นโยบายของรัฐบาล นโยบายการเร่งใช้ ICT (Information and Communication Technology) เพื่อพัฒนาการศึกษาในทุกด้านโดยเฉพาะการช่วยพัฒนา ครู อาจารย์ นักศึกษาได้เข้าถึงแหล่งความรู้และได้เรียนอย่างทัดเทียมกัน การพัฒนาระบบบริหารจัดการให้ฉับไว มีประสิทธิภาพสูงสุด การจัดเครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และการเชื่อมโยงเครือข่าย จึงเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
ระบบบริหารจัดการด้าน ICT ในการบริหารและบริการทางด้าน ICT มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มีข้อมูลทะเบียนนักเรียน มีการเชื่อมโยงและรวบรวมข้อมูล ซึ่งสามารถติดตามความก้าวหน้า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีระบบบริหารงานบุคคล ระบบงานสารบรรณ ระบบห้องสมุด ซึ่งจะเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการค้นคว้าที่กว้างขวางขึ้น
การออกแบบและผลิตสื่อ มุ่งส่งเสริมพัฒนาครู อาจารย์ ให้สามารถออกแบบและผลิตสื่อด้าน ICT เพื่อช่วยให้การสอนมีความน่าสนใจ สนุกสนาน ค้นคว้าต่อยอด ความรู้ประสบการณ์จากที่มีอยู่เดิม
ทฤษฎีการเรียนรู้ (Constructionism) มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองกับเครือข่ายการเรียนรู้โดยนำกระบวนการเรียนรู้มาจัดการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากการเรียนรู้ในอดีต มาเป็นการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต
ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องของการกำหนดวิธีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ การเตรียมผู้เรียนให้พร้อมต่อการใช้เทคโนโลยีฯ เพื่อเป็นการใช้เทคนิคต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของเทคโนโลยี
การประเมินผลการเรียนรู้ เป็นเรื่องสำคัญขององค์ประกอบดังกล่าว เนื่องจากเป็นการจะทำให้ทราบแนวทางในการพิจารณาเลือกตัดสินใจดำเนินงาน โดยประเมินจากผลงานหรือตามสภาพความเป็นจริงจากกระบวนการเรียนรู้
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สิ่งสำคัญที่คุณครูจะทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้เข้าใจเป็นอย่างดี ก็คือเครื่องมือที่เรียกว่า “สื่อการเรียนรู้” และสื่อการเรียนรู้ที่ดีที่สุดก็คือ สิ่งที่จะสื่อให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ ได้ดีที่สุด ซึ่งมีมากมายหลากหลาย การเรียนรู้ในบางเรื่องแค่คุณครูบอกเล่าหรือแสดงท่าทาง เด็กก็เข้าใจได้ และในบางเรื่องต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ฯลฯ เข้ามาช่วย การพิจารณาใช้สื่อฯ ไม่ควรยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สื่อฯทุกชนิดมีคุณค่าและมีความสำคัญที่แตกต่าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะนำมาใช้


การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
หมายถึง การจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นประการสำคัญ ใครก็ตามที่เป็นคนสำคัญของเรา เราย่อมมีความรักความปรารถนาดี ให้แก่เขา จะคิดจะทำอะไร ก็มักจะคิดถึงเขาก่อนคนอื่น และคิดถึงประโยชน์ที่เขาควรจะได้รับ
การจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คืออะไร
แนวคิดนี้มีที่มาจากแนวคิดทางการศึกษาของ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ซึ่งเป็นต้นคิดในเรื่องของ “การเรียนรู้โดยการกระทำ” หรือ “Learning by Doing” (Dewey ,1963) อันเป็นแนวคิดที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับทั่วโลกมานานแล้ว การจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติจัดกระทำนี้ นับว่าเป็นการเปลี่ยนบทบาทในการเรียนรู้ของผู้เรียนจากการเป็น “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้เรียน” และเปลี่ยนบทบาทของครูจาก “ผู้สอน” หรือ “ผู้ถ่ายทอดข้อมูลความรู้” มาเป็น “ผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้” ให้ผู้เรียน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงบทบาทนี้ เท่ากับเป็นการเปลี่ยนจุดเน้นของการเรียนรู้ว่าอยู่ที่ผู้เรียนมากกว่าอยู่ที่ผู้สอนดังนั้นผู้เรียนจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน เพราะบทบาทในการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ
การใช้ไอซีทีในการเรียนการสอน
ในศตวรรษแห่งภูมิปัญญามีการนำเอา ICT มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนหลายรูปแบบ เช่นการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer Assisted Instruction) การเรียนในรูปแบบอิเลคทรอนิกส์ (e-Leaning) การเรียนโดยใช้การสื่อสารทางไกล (Distance Learning) ภายใต้ความเชื่อเกี่ยวกับศักยภาพของเทคโนโลยีในปัจจุบันที่จะให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมาย หรือในโลกแห่งความรู้ (World Knowledge) ซึ่งผู้เรียนมีความสามารถที่จะเรียนเวลาใด สถานที่ใด หรือแม้กระทั่งจะเรียนรู้กับใครก็ได้ตามความสนใจของแต่ละคน จึงเกิดความยืดหยุ่นในการเรียนรู้มากขึ้น


กิดานันท์ มลิทอง ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนการสอนไว้ 3 ลักษณะ ดังนี้
1. การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี เป็นการเรียนรู้ในเรื่องของเทคโนโลยี เช่น เรียนรู้ เกี่ยวกับระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ เรียนรู้ว่าคอมพิวเตอร์ใช้เพื่อการประมวลผล เก็บบันทึก ค้นคืนสารสนเทศได้อย่างไร เครื่องพิมพ์เลเซอร์และเครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึก มีการทำงานอย่างไร เทคโนโลยีการสื่อสารมีรูปแบบใดบ้าง ช่องทางสื่อสารมีลักษณะเป็นอย่างไรและประกอบด้วยอุปกรณ์ใดบ้าง ฯลฯ วิชาเพื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีมีหลายวิชา เช่น วิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้น วิชาเครือข่ายดิจิทัล หรืออาจเรียนรู้จากเว็บไซต์ ที่นำเสนอเรื่องต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองในลักษณะมัลติมีเดีย
2. การเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยี เป็นการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผล การใช้ซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์ในการสร้างบทเรียนการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการค้นคว้า การใช้ WWW เป็นสื่อในลักษณะการสอนบนเว็บ การเรียนการสอนในลักษณะอีเลิร์นนิง และการทัศนศึกษาเสมือนด้วยแหล่งเรียนรู้เสมือนจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นต้น
3. การเรียนรู้ไปใช้กับเทคโนโลยี เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ได้แก่ การเรียนรู้ว่าขณะนี้เทคโนโลยีมีความก้าวไกลไปในลักษณะและรูปแบบใดบ้างทั้งทางด้านวัสดุ อุปกรณ์และวิธีการ เช่นซอฟต์แวร์โปรแกรมใหม่ ๆ เครื่อง tablet pc ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ไร้สายที่ผู้ใช้สามารถเขียนลงบนจอภาพได้ กล้องดิจิทัลเพื่อถ่ายภาพและเว็บแค็ม (Webcam) เพื่อใช้ส่งภาพขณะสนทนาทางอินเตอร์เน็ต ฯลฯ เมื่อเรียนรู้ถึงความใหม่ทันสมัยของเทคโนโลยีแล้วจำนำมาประยุกต์ใช้ในวงการต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง เช่น การใช้กล้องวีดิทัศน์ถ่าพภาพการสอนส่งไปบนอินเตอร์เน็ตเพื่อให้ผู้เรียนในสถาบันการศึกษาอื่นเห็นภาพและได้ยินเสียงการสอน การใช้เครือข่ายไร้สายด้วยเทคโนโลยี WI FI ทั้งในและนอกห้องเรียน
ประเทศไทยมุ่งเน้นในการนำไอซีทีมาใช้ในการเรียนการสอน วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่สนองต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง เทคโนโลยีการเรียนรู้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของเด็กในศตวรรษที่ 21 โดยมี เป้าหมายหลักเพื่อช่วยเปลี่ยนสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ การประกันโอกาสของผู้เรียนในการเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเชื่อมโยงสังคมไทยเข้ากับสังคมเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้
ตามแผนแม่บทของการศึกษาแห่งชาติ และการกำหนดนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา โดยการใช้ไอซีทีในสถาบันการศึกษาทั้งหมดและมีให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนตามประสิทธิภาพที่พอเพียงอย่างทั่วถึง โดยมีวิสัยทัศน์และจุดมุ่งหมายสำคัญ สรุปได้ดังนี้


ผู้เรียน
ผู้เรียนสามารถใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยมีจุดมุ่งหมายคือ
1. การรู้เทคโนโลยีและการรู้สารสนเทศ ในระดับพื้นฐานเพื่อสามารถเข้าถึงและสามารถใช้ไอซีทีเพื่อการค้นคว้า รวบรวม และประมวลผลจากแหล่งต่าง ๆ และเพื่อเการสร้างองค์ความรู้ใหม่
2. บูรณาการความรู้ด้านเทคโนโลยีและทักษะการจัดการสารสนเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม
3. กระตุ้นให้ผู้เรียนพัฒนาคุณค่า ทัศนคติ และจริยธรรมในเชิงบวกในการใช้ไอซีทีซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตและกระบวนการคิดอย่างวิเคราะห์
4. ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเข้าถึง ใช้ และเรียนรู้ทักษะไอซีทีในการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยหลักสูตรพื้นฐาน
5. ต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสในการใช้และพัฒนาความรู้ไอซีทีในทุกสาขาวิชา และเพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนมีการใช้ไอซีทีให้มากขึ้น
6. กระบวนการเรียนการสอนต้องไม่จัดเฉพาะในชั้นเรียนเท่านั้น ผู้เรียนควรมีโอกาสสัมผัสโลกภายนอกผ่านเครือข่ายไอซีที การรู้ไอซีที และมีการพัฒนาการของทัศนคติที่ดีต่อไอซีทีตามความต้องการของแต่ละคน
7. นักเรียนทุกคนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และปีที่ 6 สามารถใช้โปรแกรมประมวลคำและตารางการคำนวณได้ นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 สามารถเขียนโปรแกรมได้
8. นักเรียนทุกคนในโรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 1-100 คนขึ้นไป ใช้อินเทอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูลได้

ผู้สอน
ผู้สอนควรมีความรู้และทักษะไอซีทีในระดับสูง รวมถึงความเข้าใจในการพัฒนาการของการใช้สื่อเทคโนโลยีในการเรียนการสอน โดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้
1. สมรรถนะด้านไอซีทีจะช่วยให้ผู้สอนมีความรู้อย่างกว้างขวาง มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลเพื่อสามารถเป็นผู้แนะนำแกผู้เรียนได้
2. คอมพิวเตอร์จะเป็นเครื่องมือหลักสำคัญสำหรับผู้สอนเพื่อเข้าถึงทรัพยากรการเรียนการเตรียมแผนการสอน ให้การบ้าน และติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครองนักเรียน ผู้สอนคนอื่นๆและผู้บริหาร
3. ผู้สอนควรได้รับการอบรมในการใช้ไอซีทีและสามารถบูรณาการไอซีทีในกิจกรรมการเรียนการสอนได้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างวิเคราะห์และสร้างสรรค์
4. ผู้สอนควรติดตามพัฒนาการและความก้าวหน้าของไอซีทีเพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนได้
5. ครูไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ใช้คอมพิวเตอร์เป็น และไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ และต้องมีวิชาสอนด้วยการบูรณาการไอซีที
รูปแบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอน
1. การเรียนการสอนบนอินเทอร์เน็ตและเวิลด์ไวด์เว็บ
2. การส่งการสอนทางไกลด้วยการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม
3. การเรียนการสอนโดยการประชุมทางไกลด้วยวีดิทัศน์
4. บทเรียนลักษณะข้อความหลายมิติและสื่อหลายมิติ
5. บันทึกข้อมูลและสารสนเทศด้วยซีดีและดีวีดี
6. การเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีไร้สาย
7. การศึกษาเชิงลึกด้วยเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน

การใช้ไอซีทีเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้
1. รูปแบบการใช้ ICT ในการเรียนการสอนเด็กและเยาวชนเห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันมีกาปฏิรูปการเรียนการสอนแบบผู้เรียนสำคัญที่สุด ดังนั้น สื่อการสอนรวมทั้งสื่อ ICT เช่นโปรแกรมช่วยสอนบทเรียนสำเร็จรูป ฯลฯ ควรเข้ามามีบทบาทช่วยสอนมากขึ้น เพื่อช่วยให้นักเรียนได้ฝึกคิด ปฏิบัติจริง และทำให้เข้าใจในการเรียนอย่างแท้จริง
2. ห้องเรียน ICT ที่ต้องการ ต้องมีวัสดุอุปกรณ์ครบครันและทันสมัย เป็นห้องเรียนแบบ E- learning และ E - library เป็นแหล่งเรียนรู้ที่นักเรียนทุกคนสามารถใช้ได้ นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างความบันเทิง คลายเครียด ฝึกความจำ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยผ่านเกมต่างๆ
3. บทบาทครูผู้สอน ICT เด็กและเยาวชนเห็นว่า ครู ICT ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้แนะนำ ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนสืบค้นข้อมูล โดยแนะนำการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดส่องดูแลไม่ให้ผู้เรียนใช้ในทางที่ผิด เช่น chat เวลาเรียน เปิด website ที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ครูต้องทันโลก ทันเหตุการณ์ ใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เรียนและบุคคลอื่นโดยไม่ยึดติดความคิดของตนเอง มีกระบวนการสร้างทักษะการเรียนการสอนและรู้จักบูรณาการเทคโนโลยีกับความเป็นธรรมชาติ บูรณาการการสอนความรู้ด้านคุณธรรม ศีลธรรมให้นักเรียนควบคู่กับการเรียนการสอน ICT และที่ขาดไม่ได้คือ ครูต้องมีคุณธรรม จริยธรรมและมีจรรยาบรรณในวิชาชีพครูด้วย
4. ผลกระทบจากการใช้ICTในการเรียนการสอน
ข้อดี ผู้เรียนได้พัฒนาและเรียนรู้ได้ดี สามารถเรียนด้วยตนเอง ใช้สะดวก รวดเร็วกระตุ้นความสนใจและได้ฝึกปฏิบัติจริง
ข้อเสีย เด็กและเยาวชนไทยอาจถูกครอบงำจากสื่อที่ไม่เหมาะสม ใช้สื่อในทางที่ผิดสูญเสียความเป็นตนเอง ขาดความสัมพันธ์ทางด้านสังคมและจิตใจ ขาดมนุษย์สัมพันธ์ระหว่างเพื่อน การเรียนผ่านระบบเครือข่ายเป็นการเรียนแบบจำลองสถานการณ์ ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงของผู้อื่นได้ นอกจากนี้เด็กและเยาวชนสมัยใหม่ใช้ชีวิตสบายเกินไปทำให้ลืมวิถีชีวิตสมัยก่อน และการใช้ ICT ในการเรียนการสอนต้องลงทุนสูง
5. การใช้ ICT เท่าที่เป็นอยู่ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ไม่เพียงพอ นักเรียนขาดทักษะการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบการติดต่อสื่อสารเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไม่ดีพอ มีเวลาเรียนน้อยและขาดครูผู้สอนที่มีความรู้ด้านนี้โดยตรง
6. พ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่งเสริมการใช้ ICT เพื่อการเรียนรู้ โดยการเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษามากกว่าความบันเทิง โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องคอยดูแล ให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิด จัดหาสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ ICT รวมทั้งควรส่งเสริมและสนับสนุนให้บุตรหลานเข้าร่วมแข่งขันหรืออบรมเรื่องใช้ ICT เพื่อการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้
7. เด็กและเยาวชนต้องการให้มีการใช้ ICT เพื่อการเรียนการสอนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทุกโรง มีวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการใช้ ICT ทันสมัยและเพียงพอ มีการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น นอกจากนี้ อยากให้มีหน่วยเคลื่อนที่ "ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้" ที่ออกให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชนทั่วประเทศ และส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้ด้านไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ทุกภูมิภาค
กล่าวโดยสรุป จากการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี ปรัชญา ด้านเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวของมันเองร่วมกับปัจจัยด้านต่าง ๆ ในด้านขอบข่ายสาระของแนวคิด และกระบวนทัศน์ของเทคโนโลยีการศึกษา จากโสตทัศนศึกษา มาเป็นเทคโนโลยีการศึกษาครอบคลุม การจัดระบบ ทฤษฎีต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อศาสตร์ และสื่อต่าง ๆ เกิดเป็นสหวิทยาการที่มีขอบข่ายกว้างขวาง ครอบคลุมการศึกษาทุกแบบ การศึกษาด้วยตนเอง การศึกษาทางไกล การเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษากับชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ การเรียนรู้ผ่านเครือข่ายและสื่อสมัยใหม่ มุ่งสร้างองค์ความรู้แก่ผู้เรียน โดยเปลี่ยนจาก Teacher Center เป็น Child Center และมีแนวโน้มจะเป็น Media Center

ที่มา:
pirun.ku.ac.th/~g4786022/page/Paper/Factor.doc
pirun.ku.ac.th/~g4786022/page/Paper/Interested.doc
http://inno.obec.go.th/project/ict/html/innovation.html
http://www.moe.go.th/webpdit/proj_2550/itplan.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น